โบอิง 737 เป็นเครื่องบินโดยสารที่มีพิสัยบินระยะปานกลาง ลำตัวแคบ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ผลิตโดยฝ่ายผลิตเครื่องบินพาณิชย์โบอิง โดยนับตั้งแต่วันที่ได้ทดสอบการบินครั้งแรกเมื่อ 9 เมษายน พ.ศ. 2510 เครื่องรุ่น 737 มียอดสั่งผลิตมากกว่า 8,000 ลำ และมียอดส่งมอบไปแล้วมากกว่า 6,000 ลำ ถือได้ว่าเป็นเครื่องบินโดยสารที่มียอดสั่งและส่งมอบสูงสุดตลอดกาล
แรกเริ่มนั้น ตลาดเส้นทางระยะสั้นมีบีเอซี 1-11, ซัด อาวิเอชั่น คาราเวลล์ และแมคดอนเนลล์ ดักลาส ดีซี-9 ครองส่วนแบ่งอยู่ โบอิงจึงหยิบเอาโครงสร้างและระบบการทำงานของ727มาต่อยอดเพื่อลดเวลาการพัฒนาเครื่องบินใหม่ และให้เข้าแข่งขันได้ทันตามคู่แข่งรายอื่น โบอิงจึงได้ส่งรุ่น -100 และ -200 ออกมาเป็นุร่นแรกในปีพ.ศ. 2511
รุ่น 100 เป็นรุ่นแรกของ 737 เปิดตัวครั้งแรกในพ.ศ. 2508 โดยสายการบินลุฟต์ฮันซา ก่อนที่จะเริ่มการผลิตอย่างเป็นทางการในพ.ศ. 2510 และเริ่มให้บริการในพ.ศ. 2511 เครื่องรุ่น 100 เป็นเครื่องที่เล็กที่สุดในบรรดา 737 ทั้งหมด มียอดการส่งมอบเพียง 30 ลำก่อนการเลิกผลิต และต่อมาก็เริ่มถูกปลด ในปัจจุบัน ไม่มีการใช้เครื่องรุ่น 100 ขึ้นบินอีกแล้ว โดยองค์การสุดท้ายที่ใช้เครื่องรุ่น 100 คือ องค์การนาซา
รุ่น 200 เป็นรุ่นพิเศษของรุ่น 100 โดยจะมีลำตัวเครื่องกว้างกว่า เปิดตัวครั้งแรกใน พ.ศ. 2508 โดยสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ก่อนจะเริ่มสายการผลิตใน พ.ศ. 2510 และเริ่มให้บริการใน พ.ศ. 2511 ในปัจจุบัน ยังมีธุรกิจพาณิชย์จำนวนมากที่ยังใช้เครื่องรุ่น 200 แต่ในด้านธุรกิจเครื่องบินโดยสาร รุ่น 200 เสียเปรียบรุ่นที่ใหม่กว่า เพราะรุ่น 200 ค่อนข้างจะสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และมีเสียงเครื่องยนต์รบกวนดัง เมื่อเทียบกับรุ่นใหม่ ดังนั้น ธุรกิจเครื่องบินโดยสารจึงลดการใช้รุ่น 200 ลงไป และในที่สุด รุ่น 200 ก็หายไปจากวงการเครื่องบินโดยสารใน พ.ศ. 2551 โดยสารการบินสุดท้ายที่ใช้คือ อโลฮ่าแอร์ไลน์ (Aloha Airlines)
จนกระทั่งปีพ.ศ. 2523 โบอิงได้พัฒนาเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่งรุ่น 737 คลาสสิก ได้แก่ -300, -400 และ -500 และต่อมาในปีพ.ศ. 2536 โบอิงพัฒนารุ่น 737 เนกซ์ เจเนอเรชั่น ได้แก่ -600, -700, -800 และ -900 โดยเพิ่มขนาดของตัวเครื่อง และประสิทธิภาพการบินให้มากขึ้นเพื่อตอบโต้เอ320รุ่นใหม่ของแอร์บัส ที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดไป
รุ่น 300 เริ่มให้บริการครั้งแรกใน พ.ศ. 2524 โดยสายการบินยูเอสแอร์เวย์ และ เซาธ์เวสต์ แอร์ไลน์ และผลิตต่อไปจนถึง พ.ศ. 2542 โดยสายการบินสุดท้ายที่สั่งซื้อรุ่น 300 คือ แอร์นิวซีแลนด์
รุ่น 400 เปิดตัวในพ.ศ. 2528 ในช่วงแรกออกแบบมาเพื่อสายการบินแบบเช่าเหมาลำ สายการบิน Piedmot Airlines เป็นสายการบินแรกที่สั่งซื้อเครื่องรุ่น 400 พร้อมกันถึง 25 ลำ และออกให้บริการครั้งแรกในพ.ศ. 2531 และเครื่องบินรุ่น 400 ลำสุดท้ายถูกส่งมอบให้สายการบิน Czech Airlines ในพ.ศ. 2543
ในบางสายการบิน เช่น Alaska Airlines มีการนำเครื่องรุ่น 400 ไปดัดแปลง โดยนำที่นั่งผู้โดยสารออกส่วนหนึ่ง แล้วทำเป็นที่บรรทุกสินค้าขนาด 10 พาเลต(pallets) ทำให้แต่ละเที่ยวบิน สามารถบรรทุกสินค้าและรับส่งผู้โดยสารได้พร้อมกัน
เครื่องรุ่น 500 เปิดตัวครั้งแรกใน พ.ศ. 2530 โดยสายการบิน Southwest Airlines และออกให้บริการครั้งแรกใน พ.ศ. 2533 รุ่น 500 ออกแบบมาเพื่อทดแทนรุ่น 200 โดยตรง มีประสิทธิภาพและประหยัดน้ำมันกว่ารุ่น 200 เครื่องรุ่น 500 ลำสุดท้ายถูกส่งมอบให้สายการบิน All Nippon Airways เมื่อ พ.ศ. 2542
รุ่น 500 เป็นที่นิยมในวงการสายการบินรัสเซีย สายการบินสัญชาติรัสเซียจำนวนมากรับซื้อเครื่องรุ่น 500 มือสอง เพื่อนำไปทดแทนเครื่องบินที่ผลิตในประเทศ หรือบ้างก็เพื่อทดแทนเครื่องรุ่น 200 ที่มีอยู่เดิม
ในช่วงหลังการเปิดตัวรุ่น 500 แอร์บัส เอ 320 ได้เข้ามาเป็นที่นิยมในวงกว้างแทนโบอิง 737 ทำให้โบอิงต้องปรับปรุง 737 ครั้งใหญ่ เพื่อตีตื้นแอร์บัส หลังการทดลองและวิจัย ก็ได้ออกเครื่องรุ่นใหม่กว่าออกมา มีคุณสมบัติเหนือกว่ารุ่นเดิม เช่น
รุ่น 600 เปิดตัวครั้งแรกใน พ.ศ. 2538 โดยสายการบิน Scandinavian Airlines System และเปิดให้บริการในพ.ศ. 2541 และยังผลิตอยู่จนถึงปัจจุบัน
รุ่น 700 เป็นรุ่นแรกของ 737 Next Generation เปิดตัวใน พ.ศ. 2536 เปิดให้บริการครั้งแรกใน พ.ศ. 2541 โดยสายการบิน Southwest Airlines
รุ่น 900 เป็นรุ่นที่ลำตัวเครื่องยาวที่สุด และทรงพลังมากที่สุด เปิดตัวเมื่อ พ.ศ. 2540 โดยสายการบิน Alaska Airlines และได้รับมอบเครื่องบินใน พ.ศ. 2544
ขณะนี้โบอิงกำลังศึกษาวิจัยเครื่องต้นแบบใหม่ที่เพื่อทดแทนเครื่อง 737 (โดยใช้เรียกว่า Y1/737RS) ที่จะออกตามหลัง 787 ซึ่งเป็นรุ่นหนึ่งในโครงการทดแทนรุ่นปัจจุบัน